Sunson Cube

บทความ

Type ต่างๆ ของรูบิคแบบ 3x3x3

23-07-2559 01:27:17น.

เรื่องราวของType ต่างๆ ของรูบิคแบบ 3x3x3

คำถามที่ถามกันมาบ่อยๆเกี่ยวกับเรื่องTypeของรูบิค แบบ 3x3x3

> ช่วยให้คำแนะนำเรื่อง Type ของ รูบิค หน่อยครับ ...

> Type คืออะไร ขอคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจหน่อยคะ ...

> Type ของรูบิคมันต่างกันยังไงครับ ไม่เข้าใจ ...

> ผมเป็นมือใหม่ ผมเห็นมีรูบิคหลายแบบ เป็นType A ,C ,F และอื่นๆอีก มันมีความหมายว่าอะไร ผมเลือกไม่ถูก ...

> แบบมี Type กับไม่มี Type อันไหนดีกว่ากัน และ เลือกแบบไหนดี

> DIY เกี่ยวข้องกับ Type ยังไง ไม่เข้าใจครับ ... 

> คุณภาพของรูบิค ดีเรียงกันไปตามลำดับของType ใช่ไหมครับ

 

มีผู้สนใจสอบถามกันมามากในเรื่องTypeของรูบิค ดังรายละเอียดข้างต้น หรือ ในลักษณะคล้ายกัน

การตอบแบบสั้นๆก็อาจจะทำให้ไม่เข้าใจได้ดีเท่าที่ควร หรืออาจจะทำให้สับสนมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก

 

Sunson Cube ขออธิบายความเป็นมาและลักษณะเฉพาะของType ของรูบิคให้ทราบ จากประสบการณ์และข้อมูลที่ได้มาจากผู้ผลิตรูบิค และผู้จัดจำหน่าย พอที่รวบรวมและเรียบเรียงได้ดังนี้

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า รูบิคที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายที่สุดก็คือรูบิคชนิด 3x3x3 นั้น ถูกผลิตขึ้นโดยคุณเออร์โน รูบิค  Ernö Rubik  และได้ผลิตออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1977 เมื่อ30กว่าปีก่อน โดยใช้ชื่อของเล่นชนิดนี้ว่า Rubik’s cube  จนเรียกกันจนติดปากว่า Rubik (รูบิค) ซึ่งได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ ( อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อ ประวัติความเป็นมาของรูบิคโดยสังเขป ได้ในหมวดบทความของ Website )

ในช่วงต้นๆของความนิยมนี้เอง มีผู้ผลิตรูบิคลอกเลียนแบบออกมาจำหน่ายกันมากมาย ซึ่งคุณภาพโดยรวมของรูบิคในยุคต้นๆนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ที่ดีที่สุดที่มีในยุคนั้นก็เป็นชนิดที่บิดหมุนได้สะดวกเท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติหรือลูกเล่นอะไรเป็นพิเศษ   แต่ด้วยความนิยมในการเล่นรูบิคมีมาอย่างต่อเนื่อง  จึงมีผู้จัดให้มีการแข่งขันเล่นรูบิคครั้งแรกในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งควบคุมการแข่งขันโดยWorld Cube Association เพื่อหาผู้เล่นที่สามารถทำเวลาได้น้อยที่สุดในการเล่น โดยบันทึกสถิติไว้เป็นสถิติโลกในการแข่งขันครั้งนั้นด้วย  จากนั้นเองทำให้มีผู้สนใจเล่นรูบิคแบบแข่งขันเพื่อทำเวลากันอย่างกว้างขวางมากขึ้นและมีผู้คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้สามารถเล่นแก้ปัญหารูบิค ( Solve ) ให้ได้เร็วยิ่งขึ้น  จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความนิยมในการเล่นรูบิคแผ่ขยายวงออกไปอย่างมีกฎเกณท์กันมากยิ่งขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  จากที่เป็นเพียงของเล่นลับสมองจึงได้พัฒนามาเป็นเกมกีฬารูบิค

 

ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้   ผู้ผลิตรูบิคออกมาจำหน่าย (โดยส่วนใหญ่เกือบจะทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน แม้แต่บางยี่ห้อที่มีชื่อเสียงก็ยังใช้ฐานการผลิตในประเทศจีนเช่นกัน) ได้เริ่มมองถึงคุณภาพของรูบิคที่จะทำให้เล่นได้ดีและเล่นได้เร็วขึ้น โดยมองไปที่คุณภาพของการบิดหมุนเพื่อที่ต้องการผลิตรูบิคที่สามารถบิดหมุนได้สะดวกและดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่นักเล่นรูบิค ( Cuber )ที่ต้องการทำเวลาในการเล่นแก้ปัญหารูบิคให้ดีขึ้น(เสร็จเร็วขึ้น)   ในจุดนี้เองถือเป็นการเริ่มต้นของTypeของรูบิค จึงได้เกิดขึ้นมา

ในความเห็นส่วนตัวนั้น อาจจะถือได้ว่าช่วงนี้คือยุคที่สองของรูบิคก็ว่าได้  เพราะได้เกิดการเริ่มต้นของการพัฒนาการผลิตรูบิคให้มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ของการเล่นแบบเร็ว( Speed Solving ) อันจะทำให้สามารถลดเวลาให้น้อยลงในการเล่นแก้ปัญหา ( Solve ) ของเกมการแข่งขันรูบิค

 

ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนานี้  ยังมีผู้ผลิตรูบิคที่มองและให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของการบิดหมุนไม่มากนัก แต่ก็มีผู้ผลิตที่ผลิตรูบิคออกมาได้โดดเด่นกว่ารายอื่นๆ  นั่นคือ ในราวปี ค.ศ.2004  GuoJia ได้เริ่มผลิตรูบิคออกจำหน่าย และต่อมาในราวปี ค.ศ.2006 ได้ผลิตรูบิคคุณภาพดี ( Speed cube ) เพื่อจุดประสงค์ในการเล่นแบบเร็วเพื่อการแข่งขันออกมาจำหน่าย จนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมของนักเล่นรูบิค ( Cuber )ไปทั่วโลก โดยได้พัฒนาคุณสมบัติของรูบิคให้ดีขึ้นกว่าของที่เคยมีมาในอดีต  กล่าวคือ ใช้เนื้อวัสดุคุณภาพดี  โครงสร้างมีความแข็งแรง  สามารถบิดหมุนได้นุ่มนวล ลื่นสบายมือไม่ติดขัด   กลไกมีระบบสปริงเพื่อสร้างความยืดหยุ่นแต่กระชับให้กับรูบิค ซึ่งสามารถปรับ/ตั้งค่าความแข็งอ่อนของระบบสปริงได้ และสามารถบิดหมุนเล่นแบบเหลื่อมแนวบิดได้ ( Cut Corner ) 

 

จากความนิยมที่เกิดขึ้นจึงมีผู้ผลิตรูบิครายอื่นๆผลิตรูบิคประเภท Speed cube ตามกันออกมาทั้งในลักษณะที่คล้ายกันและที่แตกต่างกันไป เช่น   ผลิตรูบิคลูกสีต่างๆ และรูบิคแบบลูกใส   แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับรูบิคของ Guojia  เนื่องจากคุณภาพของการบิดหมุนยังสู้รูบิคของGuojiaไม่ได้   กลุ่มนักเล่นรูบิค(Cuber)เห็นว่ามีรูบิคที่คุณภาพดีเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงรูบิคอื่นๆที่มีคุณภาพด้อยลงไปอีกมากมาย  จึงได้ให้ชื่อเรียกแก่ รูบิคของ Guojia ในรุ่นที่สามารถเล่นแบบเร็วได้ดี  ว่าเป็นรูบิคชนิด Type-A เพื่อใช้เรียกหรือสื่อสารกันในหมู่นักเล่นรูบิคให้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้น ส่วนรูบิคอื่นๆที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นที่นิยมรองลงมาจากType-A ที่พอที่จะนำมาเล่นแบบเร็วได้ ก็จะเป็นแบบที่มีระบบสปริง และมีสีสันสวยงาม เช่น รูบิคใส รูบิคสีต่างๆ ซึ่งมีความสวยงามเป็นจุดเด่น  แต่การนำมาใช้เล่นแบบเร็วยังด้อยกว่าของType-A จึงถูกจัดให้มาอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าType-B  แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในหมู่นักเล่นรูบิคที่ต้องการรูบิคคุณภาพดีที่สามารถเล่นเร็วได้ดีที่เรียกกันว่า Speed cube

 

การจัดกลุ่มType รูบิคนี้ เกิดขึ้นในกลุ่มของนักเล่นรูบิคแบบเร็ว ( Speed Cuber )เป็นผู้จัดกลุ่มให้กับรูบิคคุณภาพดีที่สามารถเล่นแบบเร็วได้ดี ( Speed cube ) จนได้รับการยอมรับและใช้เรียกตามกันไปอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้   ในความเป็นจริงนั้นยังมีรูบิคที่จำหน่ายอีกมากมายในท้องตลาด แต่ก็เป็นแบบคุณภาพที่ไม่สามารถเล่นแบบเร็วเพื่อทำเวลาได้ จึงไม่ได้รับความสนใจจากนักเล่นรูบิคในการจัดเข้ากลุ่มTypeในช่วงเวลานั้น

 

สรุปการจัดกลุ่มType ของรูบิค

-- ผู้ที่จัดกลุ่มให้ชื่อและกำหนดType ของรูบิคในช่วงเริ่มต้นนี้ คือ ผู้จัดจำหน่ายรูบิคในช่วงนั้น และ กลุ่มสังคมของนักเล่นรูบิคแบบเร็ว ( Speed Cuber )

-- จุดประสงค์ของการจัดกลุ่มรูบิค ก็เพื่อใช้เรียกรูบิคคุณภาพดีที่มีอยู่ในขณะนั้น  เพื่อความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างกันของนักเล่นรูบิค ( Cuber ) ในยุคของกระแส Internet ที่สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงทั่วทั้งโลก

-- Type ต่างๆที่นำมาใช้เรียกนั้น  ได้ถูกกำหนดคุณลักษณะเด่นของรูบิคเอาไว้ชัดเจน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของType นั้นๆ

-- การจัดกลุ่มType นั้น เป็นการจัดกลุ่มให้เฉพาะรูบิคชนิด3x3x3 เท่านั้น และทั้งหมดถูกผลิตขึ้นในประเทศจีน 

 

 

ลักษณะเด่นของรูบิค Type-A  และ Type-B  ในยุคแรกนี้ มีดังนี้

 

Type-A

Type-A คือ Guojia  , Guojia ก็คือ Type-A  ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น Alpha แล้ว

ใช้แกน6ขาสีเหลือง  มีระบบสปริง  ขึ้นรูปชิ้นงานด้วยพลาสติกชนิด ABS   เนื้อชิ้นงานค่อนข้างหนา เล่นบิดหมุนได้ดี (ของใหม่ความลื่นจะไม่สมบูรณ์เต็ม100 แต่จะเริ่มลื่นดีขึ้นหลังจากเล่นไปได้สักช่วงเวลาหนึ่งหลังจากเกิดการขัดผิวแล้ว ) สามารถเล่นแบบเหลื่อมแนวบิด ( Cut Corner )ได้ดีระดับหนึ่ง ทำให้เล่นแบบลื่นไหลต่อเนื่องได้ค่อนข้างดี ถือว่าเป็นลูกที่ดีที่สุดที่นักเล่นรูบิคให้การยอมรับในช่วงนั้น

ลักษณะของ Type-A ที่กล่าวนี้คือType-A 1 หรือ A-1  ช่วงที่ออกมาแรกๆนั้น  ผลิตออกจำหน่ายในรูปแบบที่ประกอบเป็นลูกสำเร็จ และที่เป็นแบบDIY ที่ให้นักเล่นรูบิคซื้อไปประกอบเอง   

ชนิดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือแบบDIY  เพราะแปลก ผู้เล่นจะต้องประกอบเอง รวมถึงปรับจูนความแน่น-หลวมของลูกเพื่อให้ได้ความลื่นและบิดหมุนได้สะดวกตามความต้องการของตนเอง   ในช่วงแรกผลิตลูกดำ และลูกขาว หลังจากได้รับความนิยมอย่างมากจึงได้ผลิตลูกสีต่างๆออกมาจำหน่ายด้วย  แม้ในขณะนี้ A-1 ก็ยังมีความนิยมและความต้องการจากนักเล่นรูบิคอยู่

 

Type-B ...

Sheng En หรือรู้จักในนาม GuoYi  ออกรูบิคมาสู่ตลาด ใช้แกน6ขา มีระบบสปริง แต่จะเน้นไปที่ความสวยงามของลูกรูบิค เนื้อพลาสติกมีลักษณะแบบแข็งกระด้าง นำมาใช้เล่นแบบเร็วได้ แต่ไม่ดีนัก  ถ้าตั้งแรงตึงสปริงให้หลวมเพื่อให้หมุนลื่นก็จะพบอาการชิ้นส่วนของลูกรูบิคหลุดออกในระหว่างการบิดเล่นได้ง่าย  ถ้าขันสกูลแน่นก็จะรู้สึกว่าหมุนไม่ลื่นเท่าที่ควร   จุดที่ได้รับความสนใจจากนักเล่นรูบิคทั่วไปก็คือความเด่นของสีของลูก เช่นรูบิคลูกใส ( Transparent )  รูบิคแบบลูกสีต่างๆ ( Color cube ) เช่น ลูกสีเงิน ทอง  แดง ม่วง เขียว ชมพู ฯลฯ ซึ่งได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น เพราะรูบิคที่ถูกจัดให้มาอยู่ในกลุ่มType-B นี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนักเล่นรูบิคแบบเร็ว ( Speed cuber )ได้นั่นเอง  Cuberที่เป็นนักเล่นแบบเร็วเพื่อการแข่งขัน (Speed Solving) จึงไม่ได้ให้ความสนใจและกล่าวถึงมากนัก  รูบิคType-B จึงหายออกไปจากระบบ ในเวลาต่อมา

* Type-B นี้นั้น  ผู้เขียนบทความ ขอให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องผู้ผลิตว่า น่าจะมีผู้ผลิตรายอื่นด้วย ที่ไม่ใช่ Sheng En ที่ทำรูบิคออกมาจำหน่ายในช่วงนั้นและรูบิคของผู้ผลิตรายอื่นๆนี้ถูกจัดเข้ามาอยู่ในกลุ่มType-B ด้วย  ซึ่งผู้จัดจำหน่ายรูบิคType-B ในเวลานั้นไม่ได้เปิดเผยข้อมูลชื่อผู้ผลิตต่อสาธารณะ อาจเป็นเพราะมีเหตุผลในแง่ทางการค้า   แต่มี Sheng En ที่ถูกกล่าวถึงในเวลานั้น

 

หลังจากเกิดรูบิค Type-A และ Type-B ขึ้นมาแล้ว ในช่วงเวลาใกล้ๆกันต่อมา  Type-C  และ Type-D  Type-E  และ Type-F ปรากฏตามมา จากแนวโน้มของกระแสความนิยมและความต้องการอย่างสูงของนักเล่นรูบิคต่อรูบิคที่สามารถนำมาใช้เล่นแบบเร็วได้ดีนั่นเอง

 

มาถึงตรงนี้ขอพักเรื่องType ไว้สักครู่   เพื่อขออธิบายคำศัพท์บางคำเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

 

- Solve รูบิค ( พูดกันง่ายๆว่า เล่นแก้รูบิค ) คือการเล่นแก้ปัญหารูบิค หลังจากที่หมุนรูบิค ไป-มา เพื่อทำให้สีสลับตำแหน่งเปลี่ยนแปลงไปดูสับสนปนเปกัน   ผู้เล่นรูบิคจะต้องเล่นแก้ปัญหานี้เพื่อให้ได้สีของด้านทั้ง6ด้านของรูบิคกลับคืนเหมือนดังเดิม โดยให้แต่ละด้านจะมีสีอยู่เพียงสีเดียว ไม่มีสีอื่นมาปนอยู่   คือ ขาว เหลือง น้ำเงิน  เขียว  ส้ม  แดง หรือตามแต่สีของด้านของลูกรูบิคลูกนั้นๆที่ทำมา

 

- Speed solving คือ การเล่นแก้รูบิคให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ในการฝึกซ้อมหรือในการแข่งขันจะมีการจับเวลาโดยใช้นาฬิกาจับเวลา เพื่อบันทึกสถิติ

 

- Speed cube  คือ ลูกรูบิคคุณภาพดีที่สามารถนำมาใช้เล่นแบบเร็วได้ดี เพื่อใช้ในการแข่งขัน

 

- Cuber คือ  นักเล่นรูบิค ที่ชื่นชอบการเล่นรูบิคเป็นชิวิตจิตใจ หรือ ใช้เวลาว่างไปกับการเล่นรูบิคอยู่เป็นประจำหรือเป็นงานอดิเรก จนมีความชำนาญในระดับดี ทั้งรูบิคแบบ 3x3x3 และ รูบิครูปแบบอื่นๆ ด้วย

 

- Speed Cuber คือ นักเล่นรูบิคที่เน้นเล่นแบบเร็ว ต้องการทำสถิติเวลาของตัวเองให้น้อยลงเพื่อการแข่งขัน  อาจจะแข่งขันในสนามแข่งขันจริงที่มีการจัดขึ้น  หรือ อาจจะอยู่ที่บ้านแข่งขันกับเราตัวเองโดยทำเวลาให้ดีที่สุดเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับเวลาเดิมของตัวเองที่เคยทำไว้ หรือเทียบกับสถิติเวลาที่มีการจดบันทึกไว้ของสมาคมรูบิคโลก ( WCA )

 

- Cut Corner คือ การบิดหมุนรูบิคในลักษณะที่แนวบิดอยู่เหลื่อมกัน ( บิดแบบขบเหลี่ยม / เล่นตัดมุม ) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอันหนึ่งของรูบิคคุณภาพดีที่นำมาใช้เล่นแบบเร็วได้ดีต้องมี   โดยปกติรูบิคแบบธรรมดาทั่วไปหรือรูบิคที่มีคุณภาพต่ำไม่สามารถทำได้ 

 

- รูบิคแบบ DIY คือ  รูบิคที่ทางผู้ผลิต ผลิตออกมาจำหน่ายแบบ แยกชิ้นส่วนประกอบออกเป็นชิ้นๆเตรียมให้มาเป็นชุดสำเร็จ ( ชุด Kit )   เพื่อต้องการให้ผู้ที่นำไปเล่น ต้องประกอบเป็นลูกขึ้นมาเอง และ ติดสติกเกอร์แสดงสีของด้านเอง  อีกทั้งปรับจูนแรงตึงสปริงด้วยตนเอง รวมถึงการใส่สารหล่อลื่นให้แก่รูบิค  ตามความชอบและความต้องการของCuberแต่ละคน  

DIY เป็นคำย่อมาจาก Do It Yourself ( ทำด้วยตัวคุณเอง )   

DIY จึงไม่ใช่ยี่ห้อของรูบิค ซึ่งยังมีผู้เข้าใจผิดกันอยู่มากในเรื่องนี้

 

- Cubies คือ ชิ้นส่วนหลักของรูบิคหลายๆชิ้น เช่น ชิ้นEdge ชิ้นCenter  ชิ้นCorner ที่นำมาประกอบขึ้นเป็นลูกรูบิค  ไม่นับรวมHard ware ที่ประกอบเป็นชุดSpring  และ แกน(Core)

 

 

เรากลับมาเรื่องType กันต่อเลย ……….

 

จากกระแสที่มาแรงของType-A ในช่วงนั้น ทำให้มีผู้ผลิตรูบิค ผลิตรูบิคคุณภาพดีออกจำหน่ายในเวลาที่ตามกันมา ที่จะขอกล่าวถึงต่อไปคือ Type-C  D  E  และ  F

 

Type-C

Sheng Le หรือที่รู้จักในนามของ Guo Bing ผลิตรูบิคออกจำหน่ายหลายรูปแบบ ทั้งแบบประกอบเสร็จ และแบบDIY  ในแบบมาตรฐานลูกขาวและลูกดำ รวมทั้งลูกสีต่างๆ( Color Cube ) รวมถึงลูกใสแบบ Transparent และ แบบเรืองแสง (Luminous ) ด้วย ซึ่งได้รับการยอมรับจาก Speed Cuber มากพอสมควร เนื่องจากสามารถนำไปใช้เล่นแบบเร็วได้ดีพอสมควร 

Type-C 1  ที่ได้รับความนิยมจาก Speed cuber นำมาใช้เล่นแบบเร็วก็คือลูกดำ และลูกขาว เพราะเลือกใช้เนื้อวัสดุเนื้อดีในการผลิต เนื้อค่อนข้างแข็งดูเป็นมัน  น้ำหนักค่อนข้างจะเบาเนื่องจากเนื้อชิ้นงานที่บางกว่า เวลาเล่นเสียงจะดังกว่าTypeอื่น  และมีความลื่นเวลาบิดหมุนมากกว่า Type-A  แต่การบิดหมุนในลักษณะ Cut Corner ทำได้ไม่ดีเท่า Type-A    จึงทำให้ Speed cuber ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า Type-C เล่นได้นุ่มนวลและต่อเนื่องได้ไม่ดีเท่าType-A   แต่ก็มี Speed cuber หลายๆคนให้ความชื่นชอบมากและนำเอาไปใช้เล่นแบบเร็วเพื่อการแข่งขันในเวลานั้น  รวมถึงยังได้รับความนิยมจาก Cuber ทั่วๆไปเพราะนอกจากเล่นแบบเร็วได้ดีในระดับพอสมควรแล้วยังมีความโดดเด่นในเรื่องความสวยงาม ลูกสีต่างๆที่มีความแปลก และชิ้นงานดูมีความประณีตดี ดูสวยงามถูกใจแก่ Cuber ทั่วๆไป เช่นกัน

รุ่น C-1 นั้นมีรุ่นแยกย่อยออกไปประมาณ5รุ่น คือ รุ่น C 1.1 - C1.5 ออกมาสู่ตลาดในเวลาใกล้กัน  

ในรุ่น 1.1 และ 1.2 นั้นเรียกกันว่ารุ่น C - Original ซึ่งใช้แหวนรองสปริงที่ทำด้วยพลาสติก และมาเปลี่ยนเป็นแหวนโลหะในรุ่น C 1.3   ในรุ่น C1.3 - C1.5 จะต่างกันเล็กน้อยในส่วนของ ชิ้นCenter และ ฝาปิด ( Center cap )

รุ่น C 1.3 เรียกกันในหมู่ Cuber ว่า รุ่น Regular Type-C  

ส่วนรุ่น C 1.4 เรียกกันว่า รุ่น Retooled Type-C

และรุ่น C 1.5 เรียก C 1.5 

 

 Type-D

จากการสอบถามข้อมูลย้อนหลังจากผู้จัดจำหน่ายรูบิค และข้อมูลอื่นๆประกอบที่พอหาได้จากหลายๆแหล่ง  ผู้ผลิตน่าจะเป็นโรงงาน Yongjun หรือที่รู้จักกันในนาม YUGA  ที่ผลิตรูบิคออกจำหน่ายแล้วถูกจัดให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มType-D นี้   

เนื่องจากว่ารูบิค Type-Dไม่ได้รับความนิยมจาก Speed Cuber มากนักในช่วงนั้น  จึงไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก  เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับType-B    อาจเป็นเพราะ ไม่มีจุดเด่นอะไรที่เป็นเอกลักษณ์มากนัก อีกทั้งการนำมาใช้เล่นแบบเร็วก็ทำได้ไม่ดีนัก ถึงแม้จะใช้ระบบสปริงแต่การปรับจูนก็มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถขันสกูลเข้าเพื่อบังคับสปริงให้แน่นขึ้นได้  และเนื้อพลาสติกของชิ้นงานค่อนข้างจะบาง รวมถึงคุณภาพของเนื้อพลาสติกสู้Typeอื่นๆไม่ได้  ในภาพรวมของType-D นี้จะเน้นไปที่ความประหยัดของการผลิต

 

Type-E

Shantou Chenghai Diansheng Toys ผลิตรูบิคออกจำหน่าย  โดยจะเน้นที่เป็นรูบิคแบบประกอบเสร็จพร้อมเล่น รูบิคคุณภาพที่ดีที่สุดของ Diansheng จะเป็นลูกขาว ในราคาประหยัด ออกมาทั้งในรุ่นแบบเนื้อหนาและรุ่นเนื้อบาง   ในรูปแบบของ DIYทำออกมาบ้างแต่ไม่ได้รับความนิยมจาก Speed cuber   รวมถึงแบบลูกสีต่างๆด้วย

Speed Cuber จัดรูบิครุ่นที่มีคุณภาพดีที่สุดของ Diansheng ให้เป็น Type-E  โดยมีจุดเด่นที่ใช้เนื้อวัสดุ ABS   ชิ้นเนื้องานพลาสติกมีความเรียบมากและเป็นมัน เมื่อใส่สารหล่อลื่นช่วยแล้วจะทำให้การบิดหมุนมีความลื่นในระดับดี  แต่การบิดหมุนในจังหวะการเล่นแบบเร็วบางจังหวะจะสดุด    ถึงแม้กลไกจะใช้ระบบสปริงแต่การเล่นแบบ Cut Corner ทำไม่ได้หรือได้เพียงเล็กน้อย จึงไม่สามารถเล่นแบบลื่นไหลต่อเนื่องได้ดีเท่า Type-A และ Type-C   จึงไม่ได้รับความนิยมจาก Speed Cuber เพราะไม่สามารถใช้นำมาเล่นแบบเล่นเร็ว (Speed Sovling)ได้ดีเท่าที่ควรนั่นเอง   จึงเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเล่นรูบิค ( Beginner ) หรือ ฝึกหัดใหม่

 

Type-F

Sheng En กลับมาใหม่อีกครั้ง  ผลิตรูบิคออกมาสู่ตลาดในรูปแบบของลูกประกอบเสร็จพร้อมเล่นเป็นหลัก  ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ Speed cuber โดยที่ในรุ่นแรกที่ออกมาคือรุ่น F-1 นั้น ได้ออกแบบมาค่อนข้างแปลก ไม่เหมือนใครเมื่อเทียบกับรูบิคType อื่นๆในขณะนั้น  โดยเน้นไปที่ลักษณะชิ้นส่วนย่อย( Cubies ) ของลูกรูบิค ตรงเหลี่ยม ขอบ และ มุม มีความโค้งมนมากเป็นพิเศษ เมื่อประกอบขึ้นมาเป็นลูกรูบิคแล้ว ดูสวยและลงตัว  รวมถึงการออกแบบฝาปิดชิ้นCorner และชิ้นEdgeให้มาปิดที่ด้านนอกของลูกทุกชิ้นส่วนมีฝาปิดครบทั้งหมดที่เรียกกันว่า Full closure   ได้รับการยอมรับจาก Cuber ว่าเป็นรูบิคที่มีการออกแบบได้โดดเด่น ทั้งรูปลักษณ์ และ การนำไปใช้งาน และจัดให้รูบิคของ ShengEn ให้เป็นType ใหม่คือ Type-F

ลักษณะเฉพาะตัว ของ รูบิคType-F คือมีความอ่อนช้อยดูโค้งมนทั้งที่ขอบเหลี่ยมและมุมของลูก  ดูสวยงาม  เนื้อชิ้นงานบางแต่เลือกใช้เนื้อวัสดุคุณภาพดี ทำให้เบาสบายมือเวลาเล่น ใช้แกน6ขามีระบบสปริงที่ให้ความยืดหยุ่นแต่กระชับ การเล่นบิดหมุนมีความนุ่มนวลมือ ความลื่นในระดับดี เล่นแบบ Cut Corner ได้ในระดับดีกว่าTypeอื่นๆที่เคยมีมาก่อน  จึงสามารถเล่นแบบลื่นไหลต่อเนื่องได้ดีมาก  จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจาก Speed Cuber ในช่วงเวลานั้น

จากความนิยมType-F ในช่วงนั้น ทำให้มีผู้ผลิตเลียนแบบลักษณะของ Type-F ออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งคุณภาพดีและไม่ดี   แต่ที่ได้รับการยอมรับและถือเป็นต้นตำหรับของ Type-F คือ Sheng En เท่านั้น

 

Type-A  B  C  D  E  F ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นลักษณะจำเพาะของType ของรูบิค3x3x3 ที่ผลิตออกมาในช่วงแรกๆเท่านั้น ซึ่งเป็นรุ่นที่1 ของทุกType และโดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่แบบ DIY เป็นหลัก   ในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้ๆกันนี้ ยังมีผู้ผลิตรูบิค 3x3x3 แบบ Speed Cube อีกหลายค่ายหรือหลายยี่ห้อที่ผลิตออกมาจำหน่าย แต่ไม่ได้ถูกจัดให้เข้ากลุ่มType  ซึ่งก็เป็นรูบิคที่มีคุณภาพดีและได้รับความนิยมจากCuber เช่นกัน ได้แก่  Adison   Cube4You   Joy cube   JSK  รวมถึง Rubik’s cube ที่เป็นต้นตำหรับตัวจริงของรูบิค ที่ทนกระแสความต้องการรูบิคแบบใช้เล่นเร็ว(Speed cube)ไม่ไหว ได้พัฒนาตัวเองมาผลิตลูกที่ใช้ระบบสปริงเช่นเดียวกัน    มีความเป็นไปได้ที่ว่าผู้ผลิตเหล่านี้เน้นใช้ชื่อที่ชัดเจนของตัวเองในการเรียกรูบิคของตัวเองเมื่อนำรูบิคออกวางจำหน่ายในท้องตลาด   ผู้จัดจำหน่ายและSpeed cubers จึงไม่ได้จัดกลุ่ม เป็นTypeให้

ในที่นี้จะไม่ขอลงในรายละเอียดของรูบิคเหล่านี้ เพราะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่อง Typeของรูบิค ที่เรากำลังพูดกันนี้

 

เนื่องจากการพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ผลิตรูบิค3x3x3 แบบ Speed cube คุณภาพดีรายใหม่ๆออกมาอีกเป็นจำนวนมาก เช่น  Ghosthand   Dayan   Mf8   Mufang  Shengshou   V-cube    Maru  Clown-cube  Zhisheng  ในขณะเดียวกันผู้ผลิตเดิมที่ผลิตรูบิค3x3x3 ชนิด Speedcube คุณภาพดี ของTypeต่างๆ ก็ได้พัฒนารูบิคของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นออกมาจำหน่ายแข่งขันกันในตลาดรูบิคโลกแบบต่อเนื่องมาโดยตลอดเช่นกัน  ดังพอสรุปได้ดังนี้

 

Type-A  ( Alpha )  การพัฒนารุ่นต่อๆมา

ได้พัฒนารูบิคของตัวเอง จากรุ่น A-1 มา A-2  A-3  A-4 จนมาถึงรุ่น A-5 แล้ว  อีกทั้งยังมีรุ่นแยกย่อยออกไปจากรุ่นหลักอีก รวมถึงออกรุ่นพิเศษที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจาก Speed cuber  อันได้แก่ Alpha - mini   Alpha - small   Haiyan’s Memory  และ มารุ่นล่าสุด Alpha-CC ออกมาอีกด้วย  ซึ่งรูปโฉมของรูบิค Type-A รุ่นหลังๆได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก จนเกือบจะไม่หลงเหลือคุณสมบัติเดิมที่ถูกกำหนดไว้ของType-A ดังที่กล่าวมาข้างต้นในการจัดกลุ่มTypeไปแล้ว สิ่งที่ยังคงเห็นได้ชัดและยังคงรูปแบบเดิมมาจนถึงรุ่นปัจจุบันก็คือ Type-Aใช้แกนสีเหลือง ( Yellow Core ) และชุดสปริง+สกูล ที่มีแหวนรอง2ตัว ยังคงเหมือนเดิม  ดังนั้นคำจำกัดความที่บ่งบอกคุณลักษณะของType-A ในยุคเริ่มต้นจึงไม่สามารถนำมาใช้กับรูบิคของType-A รุ่นใหม่ๆได้

 

ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ทาง Guojia ผู้ผลิต Type-A นั้น ได้พยายามผลักดันและเปลี่ยนชื่อ รูบิค3x3x3 ของตัวเอง จากที่ Cuber ทั่วไปนิยมเรียกกันจนติดปากว่า Type-A ให้เปลี่ยนมาเรียกว่า Alpha แทน   อันมาจากเหตุผลที่ว่า คำว่าType-A ดูเหมือนจะเป็นเพียงการบอกคุณลักษณะเฉพาะของรูบิคเท่านั้น ไม่ใช่ชื่อที่แท้จริงของตัวสินค้า ซึ่งถ้าใครทำรูบิคที่มีคุณลักษณะเหมือน หรือเข้าหลักเกณท์ในลักษณะการบอกType เดียวกันนี้ออกมาจำหน่ายก็จะกลายมาเป็น Type-A กันไปเสียหมด  โดยที่ไม่ได้บอกว่าใครคือเจ้าของหรือผู้ผลิตตัวจริง  อีกทั้งรูบิคที่พัฒนามารุ่นหลังๆของType-A นี้ได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปจากเดิมมาก จนเกือบจะไม่เหลือคุณลักษณะเฉพาะเดิม ตามที่กล่าวข้างต้นไปแล้ว  ถ้าเป็น Cuber ที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหว และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องมาโดยตลอดก็จะทราบและยังเข้าใจดีว่า Type-Aคือของใคร ใครเป็นผู้ผลิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารของรูบิค หรือผู้ที่เข้ามาใหม่หรือมือใหม่แล้ว  ก็จะสับสนและเข้าใจไม่ถูกต้อง ในชื่อและตัวของสินค้ารวมถึงเรื่องของTypeด้วย  ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ Guojia ต้องการใช้ชือของตัวเองที่เป็นสากลมาใช้เรียกรูบิคของตัวเอง อันเป็นที่มาของชื่อ Alpha นั่นเอง ซึ่งยังคงมีอักษร A อยู่หน้าคำว่า Alpha อยู่  ชื่อรูบิค3x3x3รุ่นใหม่ๆของGuojia ที่เป็นแบบ Speedcube จึงใช้ชื่อว่า Alpha ทั้งหมด  และCuberโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงเรียกรูบิค Alpha กันง่ายๆว่า  A …

 

 

Type-B 

ไม่มีรูบิครุ่นใหม่ๆที่เป็น Speed cube ออกมาสู่ตลาด  และในระยะหลังๆนี้ไม่ได้รับการกล่าวถึงอีกเลยในกลุ่มสังคมของนักเล่นรูบิค ทั้งCuber ทั่วไป และ Speed cuber  รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายด้วย   จึงไม่มีข้อมูลของType-B  อาจจะเป็นได้ว่า Sheng En เห็นว่า Type-B ไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนอย่างType-F  จึงไม่คิดดำเนินการอะไรกับรูบิค Type-B ต่อไปอีก

 

Type-C  ความเคลื่อนไหวและการพัฒนาในรุ่นต่อๆมา

ได้พัฒนารูบิคแบบ3x3x3 ออกมาอีกหลายรุ่น คือ รุ่น C- mini  C-II  และ C-III ในปัจจุบัน ซึ่ง C-III นี้ ออกลูกขาว และ ดำ รวมทั้งรุ่นเรืองแสงในโฉมเดียวกัน  ซึ่งพยายามที่จะปรับปรุงรูบิคของตัวเองให้สามารถเล่นแบบ Speed solving ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น  สามารถเล่น Cut Corner ได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆมาก ซึ่งได้รับความนิยมจาก Cuber ในระดับดีพอสมควร รวมทั้งCuberที่เป็นแฟนพันธ์แท้ของType-C มาโดยตลอดด้วย  และล่าสุดออกรุ่น C-IV ( C- 4 ) WitLong ที่ออกแบบให้มีกลไกภายใน ให้มีระบบกันPop  ทำให้สามารถแก้ปัญหาอาการPop ได้แบบ100 เปอร์เซ็นต์

 

Type-D

ได้ออกรูบิคแบบ 3x3x3 มาอีกหลายรุ่น ที่เป็นลูกขาว แบบที่ประกอบเสร็จ เช่น ในseries ของ PINHOP รุ่น VVGOO-I  VVGOO-II   King of one hand   รูบิคลูกใหญ่ที่มีคุณภาพดีคือรุ่น Crazy foot  ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว Type-D ได้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพจากเดิมขึ้นมามาก แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจและความนิยมจาก Speed cuber ในปัจจุบันเท่าที่ควร

 

Type-E

สำหรับ 3x3x3 ที่เป็นSpeed cube นั้น  Type-E ไม่มีอะไรออกมาใหม่เพิ่มเติมเลย จะมีก็เพียง รูบิคแบบ Transparent แบบสีต่างๆ และ รุ่น Mini 4.6 cm. ที่ได้รับความนิยมอยู่บ้าง

 

Type-F และการพัฒนารุ่นต่อๆมา

Sheng En ได้ออกรูบิคมาอีก 2 รุ่น คือ F-II และ F-III ที่เป็นรุ่นล่าสุด  สำหรับ F-II ได้รับการปรับปรุงจุดด้อยของ F-I  เช่น การหลุดง่ายของฝาปิดชิ้น Edge และ Corner ที่ปิดอยู่ด้านนอกของลูก  เปลี่ยนคุณภาพของเนื้อวัสดุของแกน( Core )ให้ดีขึ้น  การเล่นบิดหมุนมีความลื่นและนุ่มนวลเหมือนกับ F-I แต่สามารถเล่น Cut Corner ได้ในอัตราที่สูงขึ้นกว่า F-I   ในรุ่น F-IIจึงได้รับความนิยมจาก Speed cuber เพื่มขึ้นอีกเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับ F-I     สำหรับรุ่นล่าสุดของType-F ก็คือ F-III นั้น ได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปโฉมไปจากรุ่น F-I และ F-II ที่ดูโค้งมน ให้ดูเป็นเหลี่ยมมากขึ้น   ใช้เนื้อวัสดุที่มีความแข็งขึ้นกว่ารุ่นก่อนเล็กน้อย  ชิ้นEdgeด้านในเปิดโล่ง ไม่ปิดเหมือนอย่างรุ่นก่อนๆ  ในแง่การบิดหมุนนั้น มีความลื่นในระดับดีมาก การเล่นCut corner ได้ในระดับดี   

 

 

บทสรุป

เรื่องราวของTypeของรูบิคแบบ3x3x3จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า   รูบิค3x3x3 ได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากเดิมไปมาก ทั้งการออกแบบรูปทรงภายนอกและภายใน   กลไก  รวมถึงวัสดุที่นำมาใช้ผลิต  ทำให้คำจำกัดความที่ใช้อธิบายลักษณะจำเพาะของTypeต่างๆของรูบิคในยุคแรกๆ  ไม่สามารถนำมาใช้กับรูบิคในปัจจุบันได้  

การจัดTypeของรูบิคจึงมีบทบาทลดลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด   จะเห็นได้ว่า จากType-A  ถึง Type-F แล้ว  ยังไม่มีTypeใหม่เกิดเพิ่มขึ้นมาอีก  ทั้งๆที่ ผู้ผลิตรูบิคมีมากขึ้น  มีรูบิคคุณภาพดีมากมายใหม่ๆเข้าสู่ตลาดมากขึ้น  ความหลากหลายมีมากขึ้น  แต่กลับไม่มีType เพิ่มขึ้น  อีกทั้งเจ้าของType อย่างเช่น Type-A ก็ยังหนีออกจากType เพื่อให้คนหันมาเรียกรูบิคของตนเอง ตามชื่อเฉพาะที่ตั้งขึ้นมาใหม่คือ Alpha   รูบิค3x3x3 ยี่ห้อใหม่ๆคุณภาพดี ที่ผลิตออกมาจำหน่ายก็จะใช้ชื่อของตัวเองเรียกรูบิคของตัวเองและให้ชื่อรุ่นต่างๆที่ชัดเจนลงไป  โดยไม่เอาType มาเป็นตัวกำหนด  เช่น 

 

Dayan ผลิตรูบิค3x3x3 ออกจำหน่ายมา5รุ่นหลัก ได้แก่ 

Dayan - I  คือ Dayan Taiyan

Dayan - II  คือ Dayan Guhong  ( มี2รุ่นย่อย  Version#1 และ Version#2 หรือ V.2 )

Dayan - III  คือ Dayan Lingyun ( มี2รุ่นย่อย  Version#1 และ Version#2 หรือ V.2 )

Dayan - IV   คือ Dayan Lunhui

Dayan - V   คือ Dayan Zhanchi

 

Ghosthand  ผลิตรูบิค3x3x3 ออกจำหน่ายหลายรุ่นเช่นกัน ได้แก่

Ghosthand - I  ( finger dancing )

Ghosthand - D-era

Ghosthand - Ice dancing

Ghosthand - II  ( Speedcube edition )

Ghosthand - QUIK

 

Mf8 ผลิตรุ่น  3x3x3 Mf8  Legend ( Ball Core )

 

C4U ผลิตรูบิค 3x3x3 หลายรุ่นเช่นกัน ได้แก่

C4U 3x3x3 Speedcube

C4U 3x3x3 Transparent

C4U 3x3x3 Tile ( Tile standard / Braille Dice / Braille Sudoku )

C4U 3x3x3 Gas Assisted

 

 

ปัจจุบัน การเรียกรูบิค3x3x3ที่เป็นType  ที่ยังคงนิยมเรียกกันอยู่ก็คือ Type-C และ Type-F   ส่วน Type-A เปลี่ยนชื่อมาเรียกว่าAlpha ไปแล้ว   นอกนั้นแล้วรูบิค3x3x3ยี่ห้อต่างๆจะเรียกตามชื่อผู้ผลิตกันทั้งหมดโดยระบุชื่อรุ่นกำกับไว้ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับType  

Type จึงไม่ได้บอกว่ารูบิคนั้นดีหรือไม่ดีหรือดีมากแค่ไหน   คุณภาพของรูบิคจึงขึ้นอยู่กับการผลิตออกมาในแต่ละรุ่นของแต่ละยี่ห้อ แต่โดยภาพรวมแล้ว ทั้งรูบิคAlpha ( Type-A )  Type-C  และ Type-F  ยังคงได้รับการยอมรับจากCuberทั่วโลก  เนื่องจากถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในการผลิตรูบิคประเภท Speed cube และ มีผลงานที่ผลิตรูบิคคุณภาพดีออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

 

บทบาทของTypeของรูบิคจะค่อยๆจืดจางหายไป  หรือจะหวนคืนกลับมานิยมใช้กันใหม่ หรือว่าจะเป็นไปในลักษณะทิศทางไหน  ไม่มีใครทราบได้   Cubersทั้งหลายคงต้องติดตามกันต่อไป . .. ... .... และนี่คือเรื่องราวความเป็นมาของType ของรูบิค แบบ3x3x3   

 

 

บทความโดย

ทีมงาน Sunson Cube

www.sunsoncube.com

15 มีนาคม 2555

 

 

สำหรับท่านที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องType ของรูบิค และ ประสงค์อยากจะเสริมความรู้ ให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่อง Type ของรูบิค   โปรดแจ้งหรือติดต่อเรา ทางเรายินดีที่จะเพิ่มข้อมูลความรู้นั้นเข้าสู่ระบบ  เพื่อให้บทความนี้เป็นประโยชน์และมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น